แค่หมดแรง หรือเราหมดใจ ในการทำงาน (Burnout)
คุณกำลังมีอาการแบบนี้อยู่หรือเปล่า
- รู้สึกว่าทำอะไรไม่เสร็จสักอย่าง นู่นก็ต้องทำ นั่นก็ต้องเสร็จ
- รู้สึกหงุดหงิด โมโห เรื่องที่เกี่ยวกับงาน คนที่เกี่ยวกับงาน ทุกอย่างที่เกี่ยวกับงาน
- ปวดหัว ปวดท้อง มีปัญหาการย่อยอาหารบ่อยๆ
- ตื่นมาไม่รู้สึกมีพลังในการทำงาน หรือทำอะไรเลย
- ประสิทธิภาพการทำงานลดลง หดหู่ ไม่พูดไม่จา
- จุดเดือดต่ำ หงุดหงิดง่ายกว่าปกติ อยากลาออกจากงานเต็มทน
อาการเหล่านี้ คืออาการของคน “หมดใจ” จากงาน
อาการหมดแรง หมดไฟ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มาเเป็นกระแสฮิตกันเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา เพราะเรามีจำนวนพนักงานออฟฟิศ และชนชั้นกลางมากขึ้น ตำแหน่งผู้บริหารระดับกลางที่ลูกน้องก็ต้องคุม ต้องตรวจงาน เจ้านายก็สั่งงานตีหนึ่งตีสอง บางอารมณ์ก็แอบคิดว่า เกลียดงานตัวเองจังเลยน้อ
เอ…คุ้นๆไหมว่าใครบ้าง
อาการหมดใจ (Burnout) กับความเครียดต่างกัน
ความเครียดเกิดจากความ “มากไป” คนที่เครียดจะรู้สึกว่ถ้าทำงานได้สำเร็จ ก็จะหายเครียดแล้ว ลั้นลาได้
แต่อาการหมดใจ คือความ “ไม่พอ”
รู้สึกไม่มีแรงบันดาลใจ ไม่มีแรง ไม่ได้รับการสนับสนุน จะมีความรู้สึกสิ้นหวังว่าคงไม่มีอะไรดีขึ้น ความรับผิดชอบท่วมหัวจนหายใจไม่ออก
ความเครียดจากงานเป็นเวลายาวนานไม่จบสิ้น เป็นสาเหตุหนึ่งของอาการหมดใจ
5 ความ “ไม่พอ” ที่ก่อให้เกิดอาการหมดใจ
จากผลวิจัยปี 2018 ของบริษัท แกลลัพ ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยความผูกพันของพนักงานกับองค์กร กล่าวไว้ว่า
1. “เวลา” ไม่พอ – ความกดดันจาก deadline ที่ไม่สมจริง
กว่า 70% ของชาวพนักงานออฟฟิศที่บอกว่าได้เวลาในการทำงานให้เสร็จเพียงพอ มีความเสี่ยงที่จะหมดใจน้อยกว่า ตัวอย่างง่ายๆจากงานบางประเภทอย่างที่มีความเครียดสูงจาก ความเร่งด่วนของหน้ที่ เช่นหมอ พยาบาลห้องฉุกเฉิน แม้ชาวออฟฟิศจะไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวกับความเป็นความตาย แต่แรงกดดันจากเวลาที่บีบคั้นจากทุกอย่างที่ต้องทำ ก็ส่งผลให้หมดใจได้เช่นกัน
2. “ได้รับการสนับสนุน” ไม่พอ – ไม่ได้รับการสนับสนุนจากเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงาน
ชาวออฟฟิศที่มีเจ้านายที่ให้ความสนับสนุน “อย่างเต็มที่” (เน้นว่าไม่ใช่หนับหนุนบ้างไม่หนับหนุนบ้างนะ) มีโอกาส burn out น้อยกว่าปกติ 70%
3. “ความชัดเจน” ไม่พอ – หน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบไม่ชัดเจน หรือเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
มีเพียงแค่ 60% ของพนักงานที่รู้สึกเข้าใจหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเองอย่างชัดเจนจริงๆ เมื่อความคาดหวังว่าผลงานจะได้แบบไหน เป้าหมายคืออะไร แต่แล้วมีการเปลี่ยนเป้าตลอด หรือไม่ชัดเจนว่าต้องการผลอย่างไรกันแน่ มันทำให้คนทำงานหมดใจได้ง่ายๆ
4. “ความพอดี” ไม่พอ – ปริมาณงานที่เยอะเกินรับ
เกินที่จัดการได้ แม้แต่พนักงานได้โล่ห์ที่ขยันที่สุด ก็หมดใจได้ ลองหันมาดู to do list ของคุณ หรือ calendar ว่ามันเต็มเกินไปไหม จัดการเวลาของแต่ละการประชุม แต่ละชิ้นงานที่ต้องส่งได้อย่างสมเหตุสมผลแล้วหรือยัง
5. “ความยุติธรรม” ไม่พอ – ได้รับการดูแลที่ไม่ยุติธรรม
มีโอกาส burnout มากกว่าคนที่รู้สึกว่าบริษัท “แฟร์” ถึง 2.3 เท่าเลยทีเดียว
เราจะจัดการกับอาการหมดใจได้อย่างไร
เชื่อไหมว่าการหยุดพักร้อนเป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้น ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาความหมดใจได้อย่างเด็ดขาด
จะแก้ความหมดใจให้ขาด เริ่มก้าวแรกด้วยการกลับสู่สามัญ
ดูแลร่างกายให้ดีก่อน
การดูแลตัวเอง กินอาหารดี นอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกาย ลดความเครียดจากการทำงานลงก่อน ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ ชานมไข่มุก ก็เพลาๆลงกันบ้าง
ขั้นต่อไป ถามใจเธอดู
ตั้งคำถามให้ตัวเองว่าสาเหตุของอาการหมดใจ เกิดจากอะไร แง่มุมไหนบ้างของงาน เตรียมตัวอย่างของความกดดันที่แก้ไขได้ เพราะบางทีหัวหน้างานอาจจะไม่ทราบว่าเราไม่ได้รับความสนับสนุนจากแผนกอื่นที่ต้องทำงานด้วย ส่งผลให้ทำให้งานไม่ทัน deadline ซึ่งมันเพิ่มความเครียดของคุณอย่างมหาศาล
สาเหตุต่างๆที่คิดมานี้ ถ้าคุณเป็นหัวหน้างานคุณจะแก้ไ้ขปัญหาของคุณเองได้อย่างไรบ้าง
เมื่อเราได้สาเหตุ และลองทำตัวเป็นหัวหน้างานแล้วหาทางแก้ไขให้ตัวเองแล้ว ก็ถึงเวลาคุยกัน
ถึงเวลาสื่อสาร ทำความไม่พอ ให้มีความพอดี
การสื่อสารพูดคุยกับหัวหน้างานอย่างสร้างสรรค์ นัดเวลาพูดคุยกับหัวหน้างาน ในแง่เนื้องาน ปริมาณงาน ความคาดหวังผลงาน และระยะเวลาที่ให้ในการทำงานให้เสร็จสมบูรณ์และมีคุณภาพ ทำความเข้าใจและตกลงกัน ให้เข้าใจตรงกัน เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการลดความเครียดในการทำงาน และแก้อาการหมดใจได้ยืนยาว
อย่างไรก็ตาม ถ้าถึงจุดต้องเปลี่ยนงานจริงๆ ไม่ได้รู้สึกสนุกกับงานที่ทำแล้ว หรือการพูดคุยกับหัวหน้างานไม่ได้ผล แสดงว่าคุณอยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นพิษ อาจจะได้เวลาเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าซะที... เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการมีความสนุกและสนุกกับงานที่ทำในทุกๆวัน
เริ่มออกแบบอาชีพของคุณตั้งแต่วันนี้เลย
อย่ามัวแต่รอให้โอกาสเข้ามาหา คุณสามารถเข้าหาโอกาสดีๆ ได้ด้วยตัวเอง! เราพร้อมช่วยเหลือในก้าวแรกบนหนทางสู่การผจญภัยในอนาคตของคุณ มาออกตามหาโอกาสทางอาชีพใหม่ๆ บนความก้าวหน้าและนวัตกรรมที่ทันสมัย ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ GetLinks ตั้งแต่วันนี้เลย!