ooca, GDT และ DKSH มาร่วมแชร์มุมมองใน Expert Talk: HealthTech/Telemedicine
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม ที่ผ่านมา GetLinks ได้จัด Expert Talk: HealthTech and Telemedicine ที่ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญในวงการ HealthTech 3 ท่าน ได้แก่
- น.พ.สุทธิชัย โชคกิจชัย (หมออ๊บ) – Head of Medical จาก Good Doctor Technology Thailand
- ทพญ.กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ (หมออิ๊ก) CEO/ Founder จาก Ooca
- คุณวนิดา แพงเทียน (คุณต้น) – Senior Executive Manager, Services Development จาก DKSH
โดยมี คุณนรีภัสร์ ลพานุกรม (คุณจูน) – Country Manager at GetLinks มาเป็น Moderator ในครั้งนี้ด้วย กับ 2 ช่วงหลัก :
- Panel Discussion : ทำความรู้จักกับแง่มุมต่าง ๆ ในวงการ HealthTech และ Telemedicine ว่าในมุมมองของคนที่อยู่ในวงการนี้ เขามีแรงบันดาลใจหรือข้อมูลอะไรที่น่าสนใจ
- Q&A : คำถามจากการสัมภาษณ์คนรุ่นใหม่ ๆ ถึงความคิดเห็น และ feedback ต่าง ๆ ต่อวงการ HealthTech และ Telemedicine
ช่วงแรกเริ่มที่ Panel Discussion เป็นการลงลึกถึงมุมมองผู้ที่ทำงานอยู่ในวงการ HealthTech และ Telemedicine ในแง่มุมต่าง ๆ ว่าเขาจะข้อมูลอะไรที่น่าสนใจมาแชร์บ้าง
คุณจูน : เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงการดูแลสุขภาพและการแพทย์อย่างไรบ้าง และ อะไรคือความท้าทายที่ใหญ่ที่สุด หรือความท้าทายแรกที่คุณเผชิญในประเทศไทย?
หมออ๊บ : ประเทศไทยเนี่ย เป็นประเทศที่ผมเชื่อว่าไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าคนอื่นเลย ในแง่ของการที่จะเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี ในขณะเดียวกันผมก็เชื่อว่าปัญหาหลายอย่างตอนนี้ที่เราประสบกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโควิดก็ดี ของโรคต่าง ๆ ก็ดี ที่จำกัดการเข้าถึงแพทย์และโรงพยาบาล หรือแม้กระทั่งจิตแพทย์ หรือทันตแพทย์ก็ตาม หรือแม้กระทั่งยา มันมีข้อจำกัดเข้ามาเยอะมาก ถึงแม้จะไม่มีเรื่องของโควิด ผมเชื่อว่ารูปแบบของชีวิตในอนาคตเนี่ยมันก็เปลี่ยนแปลงไป ทุกคนเองก็ทำงานซึ่งสามารถติดต่อสื่อสารกันโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่า Healthcare ก็ต้องปรับตัวเอง จากเดิมที่ผู้ใช้บริการต้องวิ่งเข้าไปหาผู้ให้บริการ ทีนี้จะกลายเป็นว่าผู้ให้บริการเองก็ต้องวิ่งเข้าไปหาผู้ใช้บริการ และให้ความสะดวกกับผู้รับบริการได้มากขึ้น ซึ่งความเชื่อหรือความคุ้นเคยเดิม ๆ ของคนไข้ที่คิดว่าจำเป็นต้องพบแพทย์ หรือไปเจอคุณหมอแบบตัวต่อตัว เป็นความคุ้นเคยเดิม ทีนี้สิ่งที่เราจะเปลี่ยนวิธีการใหม่ อาจจะเป็นความท้าทาย
หมออิ๊ก : จริง ๆ แล้วความท้าทายในการทำ Telemedicine ในไทย ถ้าเป็นยุคแรกเริ่มอาจจะเป็น มีหมอหลายท่านไม่รู้สึกสบายใจที่จะใช้ รู้สึกว่าเทคโนโลยีที่เข้ามา จะเป็นสิ่งที่ช่วยเขา หรือทำร้ายเขากันแน่นะ อย่างเช่น มีการถ่ายวิดิโอเก็บไว้ได้รึเปล่า จะมีการล่วงละเมิดสิทธิของเขาไหม ไม่เหมือนอยู่ที่โรงพยาบาล ไม่ได้สัมผัสตัวคนไข้ ก็อาจจะเป็นในเรื่องของความรู้สึก และการที่เราต้องปรับวิธีการให้มันเหมาะสมกับเครื่องมือที่เรามี
คุณต้น : สังคมบริษัทยาเอง ก็ยังมีข้อจำกัดมาก ถ้าเทียบกับโรงพยาบาลหรือคุณหมอโดยตรง เพราะตามหลักหมอจะสามารถสื่อสารกับคนไข้ได้โดยตรง เพียงเปลี่ยนรูปแบบจากเจอกันต่อหน้าเป็นประชุมทางโทรศัพท์ แต่ในบริษัทยาเนี่ยค่อนข้างยาก เพราะมีข้อจำกัดของกฏหมายอาหารและยาต่าง ๆ ที่เราไม่สามารถส่งยาให้คนไข้ได้หลังจากที่ปรึกษา ความท้าทายก็คือว่า จริง ๆ แล้วทุกคนต้องพยายามออกจาก Comfort Zone นะคะ ทุกคน ทุกตำแหน่งเลย ไม่ว่าจะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หมอ พยาบาล ทันตแพทย์ จิตแพทย์ หรือเป็นบริษัทยา ทุกคนต้องออกจาก Comfort Zone ให้ได้
คุณจูน : ในอนาคตคิดว่า HealthTech หรือนวัตกรรมการพบแพทย์ออนไลน์ จะกลายเป็น New Normal แทนที่การไปพบแพทย์ตัวต่อตัวที่โรงพยาบาลได้หรือไม่
หมออ๊บ : จริง ๆ ต้องเข้าใจว่า Telemedicine ไม่ใช่สิ่งที่จะเข้ามาแทนที่การทำงานของแพทย์ตามปกติ ตรงกันข้าม Telemedicine จะเข้ามาช่วยการทำงานของแพทย์ให้ทำงานได้ดีขึ้น แม้กระทั่งศบค.เอง ก็อาศัย Telemedicine มาช่วยดูแลคนไข้เหล่านี้ โดยการเฝ้าติดตามทุกวัน ดู Body Temperature ดูอุณหภูมิ ดู Oxygen Saturation ติดตามอาการ สิ่งเหล่านี้เป็นต้น หรือว่าส่งยาไปให้ เพื่อให้คนไข้สามารถใช้ยาในเบื้องต้นได้ และคนไข้กลุ่มนี้ส่วนหนึ่งก็หายได้เอง ผมกลับมองว่า Telemedicine ไม่ใช่อะไรที่จะบอกว่าเข้าไปชดเชยเรื่องการรักษาพยาบาลเท่านั้น แต่ตรงกันข้ามในเรื่องช่วยเหลือผู้ป่วย หรือช่วยเหลือทุกคน ให้สามารถดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีขึ้นได้ เพราะฉะนั้น Telemedicine ไม่ได้จำกัดตัวเองเพียงแค่เรื่องของการเข้าไปปรึกษาแพทย์ แต่ตรงข้าม Telemedicine เป็นอะไรที่อาศัยคำปรึกษาแพทย์ และเอาเข้ามาปฏิบัติในตัวทุกคนเอง
หมออิ๊ก : ไม่ว่ายังก็ตามแต่การไปหาหมอที่โรงพยาบาล ก็ยังเป็นพื้นฐานพื้นฐานหลักในการได้รับการตรวจ การส่งตรวจข้อมูล ตรวจร่างกาย รวมไปถึงการ Intervention บางอย่างที่ไม่สามารถแก้ได้เพียงแค่การใช้ยา เพราะฉะนั้นคงต้องเป็นการผสมผสานร่วมกัน ระหว่างการพบแพทย์ในรูปแบบเดิม กับ พบแพทย์ในรูปแบบใหม่ นั่นก็คือ Telemedicine ซึ่งวิทยาการก็น่าจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มันไม่มีอะไรที่สามารถแทนที่ได้ทั้งหมด เพียงแต่ว่ามันมีความสะดวกสบายมากขึ้น
คุณต้น : จริง ๆ แล้วจะเป็น New Normal ไหม คิดว่าไม่ แต่ว่าเป็น New Alternative Normal มากกว่า คืออย่างน้อยเป็นทางเลือก แต่เดิมเนี่ยเรามีแค่ทางเดียวคือ Face to Face ต้องมีการจับ การตรวจ การวินิจฉัยที่ตรงนั้น มีการพบเจอตัวต่อตัว แต่ว่าอันนี้จะเป็นแค่ทางเลือกเสริม เพราะในแง่ของการรักษา ไม่ว่าจะเป็นโรคเรื้อรัง หรือโรคฉุกเฉินอะไรใด ๆ ดีที่สุดก็ต้องเป็นการที่คนไข้พบเจอกับแพทย์โดยตรง จากเดิมมีทางเลือกเเดียว แต่ตอนนี้กลายเป็นสองแล้ว เพราะฉะนั้นก็จะเพิ่มทางเลือก และลดภาระ Workload ของบุคลากรทางแพทย์ทุกคน
คุณจูน : HealthTech เข้ามาช่วยให้ชีวิตผู้คนดีขึ้นหรือง่ายขึ้นได้อย่างไร (เช่น ตอนนี้แพทย์สามารถทำการผ่าตัดผ่านการประชุมทางวิดีโอ ผู้คนสามารถวินิจฉัยโรคจากแพทย์ทางไกลได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้ยังมีอะไรอีกไหม?)
หมออิ๊ก : จริง ๆ Telemedicine มันไม่ใช่แค่การปรึกษาทางวิดิโอคอล แต่ Telemedicine คือการแพทย์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 2 ฝั่งที่ทำกิจกรรมทางการแพทย์อยู่คนละที่กัน สมมุติว่าเรามีเพื่อนเป็นหมอ แล้วเราถ่ายรูปไปถามเพื่อนว่า แก ฉันมีผื่นขึ้นอันนี้อันตรายไหมไรงี้ ก็คือ Telemedicine เพราะฉะนั้นรูปแบบของ Telemedicine มันค่อนข้างกว้างมาก ๆ
หมออ๊บ : จริง ๆ มันก็เป็นเรื่องของโทรเวชกรรม มีการอยู่กันของ 2 ที่ มีการให้การดูแล หรือรักษาผู้ป่วย หรือปรึกษาเรื่องสุขภาพเป็นต้น จริง ๆ อาจจะมีได้ในหลายฝั่งที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกัน
คุณจูน : เนื่องจากตอนนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คิดว่า HealthTech จะสามารถอำนวยความสะดวกให้คนกลุ่มนี้ได้หรือไม่? และจะมีข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยีไหม?
หมออ๊บ : ผมว่าที่จริงที่สำคัญที่สุดเนี่ย เทคโนโลยีควร Adapt ตัวเอง เพื่อเข้าหากลุ่มผู้ที่จะใช้บริการ ทำให้เกิด Friendly Users มากขึ้น สำหรับสังคมไทยเราน่าจะไม่น่ามีปัญหามาก เพราะสังคมไทยเราเป็น Close Family หลาย ๆ ครอบครัว จริง ๆ ก็มีลูกมีหลานที่ช่วยในการที่จะติดต่อ หรือใช้ Telemedicine ในการที่จะดูแลเขา หรือติดต่อกับตัวแพทย์ได้ ถึงแม้เป็นผู้สูงอายุเนี่ยก็แค่เหมือนใช้โทรศัพท์ เขาก็สามารถติดต่อและเปลี่ยนเป็น Voice to Text ได้ แล้วก็ในกรณีที่ Bandwidth ค่อนข้างต่ำอยู่เนี่ย ไม่สามารถใช้ Video Call ได้ ก็สามารถใช้ Voice to Text เพื่อเปลี่ยนเป็นข้อความให้กับหมอได้ หรือข้อความนั้นให้กับคนที่กำลังต้องการปรึกษาด้วย
คุณต้น : สังคมเราก้าวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ แต่ต้องมองว่าแต่ละคนก็มีสถานะที่ไม่เหมือนกัน ก็คงต้องเลือกว่ากลุ่มเป้าหมายของ Telemedicine หรือ Telepharmacy หรืออะไรก็แล้วแต่ กลุ่มเป้าหมายเราเป็นกลุ่มไหน แล้วเราต้องโฟกัส และลงทุนไปให้ถูกที่ ถูกเวลาด้วยค่ะ
หมออิ๊ก : อุปสรรคของผู้สูงอายุกับเทคโนโลยีเนี่ยมันแล้วแต่ว่าเราพูดถึงผู้สูงอายุในกลุ่มไหน ถ้าหากเรามองที่ผู้สูงอายุในวัยนี้ จริง ๆ แล้วประเทศเรามีผู้สูงอายุที่เก่งเทคโนโลยีค่อนข้างเยอะทีเดียว ใช้ไอแพดได้ ถือว่าใช้ได้แล้ว
คุณจูน : เนื่องด้วยผู้ชมของ GetLinks บางส่วนมีทั้งที่เป็นพนักงานบริษัท หรือเป็นฝ่าย HR อยากถามว่ามีข้อมูลที่ควรให้ความสนใจเกี่ยวกับปัญหาการดูแลสุขภาพใดบ้างที่พนักงานบริษัทมักเผชิญ (ทั้งทางร่างกายและจิตใจ) และ HealthTech/Telemedicine จะช่วยแก้ไข ดูแลหรือส่งเสริมทั้งพนักงานและฝ่าย HR ของบริษัทอย่างไรได้บ้าง
หมออิ๊ก : Ooca เนี่ยก็จะมีโหมดดูแลคนในองค์กรด้วย ลูกค้าองค์กรที่อยากดูแลจิตใจพนักงาน ก็เอา Ooca เข้าไปใช้ในบริษัท และในโหมด B2B ก็สามารถดูได้ด้วยว่า เขามาปรึกษาเรื่องอะไร เครียดเรื่องอะไร ไม่สบายใจตรงไหน เรื่องที่ไม่สบายใจเยอะ ๆ อันดับหนึ่งเนี่ยก็คือ Well-Being แล้วมันจะเป็นอะไรบ้าง WFH บ้าง เครียดบ้าง หรือว่าไม่มั่นใจในสุขภาวะส่วนตัวของตัวเอง ที่อาจมีผลกระทบมาจากโควิด เป็นต้น รองลงมาก็อาจจะเป็นเรื่อง Career Path มีปัญหาไม่มั่นใจ ไม่แน่ใจในเส้นทางอาชีพของตนเอง เป็นต้น อย่างสุดท้ายเป็นความสำพันธ์ในที่ทำงาน ก็เจ้านาย ลูกน้อง เพื่อนร่วมงานมีปัญหาร่วมกัน ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลเนี่ย ปัจจัยก็มาจากหลายอย่าง แต่ต้องบอกเลยว่า ยุคสมัยนี้เลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่พูดถึงโควิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่มีผลกระทบในเศรษฐกิจก็ดี ต้องล็อคดาวน์ไม่ได้ทำงาน มีผลต่อยอดขาย รายได้องค์กร
คุณต้น : WFH เราเหมือนจะสบายเนอะ ไม่ต้องขับรถออกไปฝ่ารถติดวันละ 2-3 ชั่วโมง แต่ว่าในความเป็นจริง ความ WFH เนี่ย ตัว H มัน Home หรือมัน Hell กันแน่ เพราะ ทุกคนนั่งประชุมตลอดเวลา ไม่น่าเชื่อ ยิ่งตอน WFH ใหม่ ๆ เรียกประชุมกันตลอด เพราะทุกคนอยากจะให้ธุรกิจยังดำเนินต่อไปได้ พยายามจะ Engage ทุกคนเข้ามาประชุม แทบไม่มีเวลาพัก คนที่เป็น Extrovert ชอบออกไปพบปะสังสรรค์ผู้คน ก็จะทรมานเนอะ ไม่ได้เจอใคร นั่งอยู่แต่หน้าจอ อยู่แต่กับอุปกรณ์ ประชุมตลอดเวลา เรื่องสุขภาพทั้งของตนเองและคนรอบข้าง และเรื่องของรายได้ งาน ธุรกิจ ก็จะเป็นสิ่งที่ทุกคนน่าจะกังวล ตอนนี้มั่นใจว่าตอนนี้ทุกคนในองค์กร ถ้าเกิดไม่ได้รับข้อเสนอที่ดีกว่าทุกคนก็อยากจะเกาะขาเก้าอี้ตัวเองให้แน่นที่สุด ไมอยากจะหลุดลอยไปไหนแน่นอน เพื่อมั่นใจว่าฉันต้องมีงานมีเงิน
หมออ๊บ : เราแบ่งกลุ่มของคำปรึกษาที่พนักงานเข้ามาถึงเราเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ และพอ ๆ กันเลย กลุ่มหนึ่งก็คือ Simple Disease จะเป็นโรคง่าย ๆ เช่น ไข้หวัด เจ็บคอ หรือว่าปวดศีรษะ แต่อีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่น้อยเลยเช่นเดียวกัน อย่างที่ผมเรียนคือประมาณครึ่งต่อครึ่งเลย ก็เป็นเรื่อง Health Related Environment ยกตัวอย่าง คำถามที่เจอค่อนข้างบ่อยก็คือ Office Syndrome กับ Dry Eyes ก็เป็นสิ่งที่เราต้องเสริมกับองค์กรเพื่อให้องค์กรสามารถกลับไปดูแลพนักงาน และสร้างบรรยากาศการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น
คุณจูน : ในภาพรวม วงการ HealthTech มีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้น ผู้คนจะหันมาใช้บริการ HealthTech มากขึ้น เป็นไปได้ไหมว่าจะมีตำแหน่งงานใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น หรือช่วยส่งเสริมให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ อย่าง แพทย์ พยาบาล เภสัชฯ สามารถมีช่องทางการติดต่อคนไข้มากขึ้นและกลายเป็นแหล่งรายได้ใหม่ของพวกเขาได้
หมออ๊บ : องค์ประกอบของ Telemedicine ก็อาจจะแตกต่างไปกว่าโรงพยาบาล หรือคลินิกโดยทั่วไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญคือกลุ่มของเทคนิค เรื่องของไอที เราต้องพยายามปรับเทคโนโลยีของเราเพื่อตามให้ผู้ที่ใช้บริการ เกิด Friendly Users มากขึ้น ผมเชื่อว่ากลุ่มนี้จะขยายแน่ ๆ ส่วนหนึ่ง แม้กระทั่งแพทย์ พยาบาลเองเนี่ย อาจจะต้องมีความสามารถพิเศษบางอย่าง ยกตัวอย่าง ตอนนี้ในทีมแพทย์ของเราเองก็มีแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาฐเรื่องเทคโนโลยี คุยกับไอทีนี่ได้แบบ ไอทียอมรับเลยว่าแพทย์ก็เข้าใจเรื่องพวกนี้ด้วย เพราะว่าบางครั้ง Need ที่เราต้องการ พอแปลเป็นภาษาไอทีแล้วก็ต้องเกิดความเข้าใจด้วยกัน แพทย์ของเราอีกท่านหนึ่งก็มีความสามารถด้านการ Writing มีความสามารถที่จะพยายามให้ความรู้กับผู้ที่มาอ่าน หรือเข้ามาศึกษา ด้วยรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย
หมออิ๊ก : สมัยก่อนเนี่ย Telemedicine เราต้องทำผ่านดาวเทียม ต้องมีอุปกรณ์ใหญ่มาก เพระาฉะนั้นก็จะมีเจ้าหน้าที่ Tele Presentator ช่วยทำให้มันเรียบร้อย แต่ว่าตอนนี้ไม่มีแล้ว เพราะว่าเทคโนโลยีเราพัฒนาไปแล้ว เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ต้องมี่ครกลางเข้ามาช่วยตรงนี้แล้ว อุตสาหกรรม Telemedicine เติบโตขึ้น มีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มากขึ้น
คุณต้น : อย่างตอนนี้ที่เห็นได้ชัดนะคะ คือน้อง ๆ ทีมงานก็จะมีหลายคนที่เป็นพยาบาล หรือเภสัช อย่างน้อยพยาบาลหลายคนเคยอยู่วอร์ด ICU วอร์ด ER ด้วยซ้ำ แต่พอได้มาทำงานตรงนี้ก็เป็นการสร้างงานที่เขาไม่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับไข้ แต่ว่าคอยติดตามประสานงานกับคนไข้ ได้ยาแล้วหรือยัง ได้รับคำปรึกษาว่ามีอาการข้างเคียงเป็นยังไงบ้าง มีการใช้ยาถูกต้องตามที่กำหนดไว้รึเปล่า อันนี้คือที่เราเริ่มกันแล้ว อันนี้เป็นอาชีพใหม่แน่นอน สิ่งที่เราได้เห็นคือเราก็ทำงานร่วมกับ Developer ก็คือไอทีนั่นแหละ อย่างที่อาจารย์หมอพูดตรงเป๊ะเลยคือ สื่อสารกันเข้าใจยากมาก คือเขาก็จะพูดภาษาของเขาเป็นแพลตฟอร์มนั่นนู่นนี่ เราก็ต้องพยายามแบบว่า Users เราต้องการแบบนี้ คนไข้เราต้องการแบบนี้ บริษัทยาต้องการแบบนี้ เราต้องการ Set Up เป็นยังไงบ้าง ก็ต้องทำยังไงให้จูนกันได้ พี่ ๆ ตอนนี้จากหมอ เภสัช พยาบาล ตอนนี้ก็แทบพูดภาษาไอทีรู้เรื่องแล้ว
ปิดท้าย Expert Talk ครั้งนี้ด้วย Q&A session คำถามจากการสัมภาษณ์คนรุ่นใหม่ เกี่ยวกับมุมมองอุตสาหกรรม HealthTech และ Telemedicine
คุณจูน : การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้การเข้าถึงการรักษาเป็นเรื่องที่ดี และสะดวก แต่ตัวเทคโนโลยีเองอาจยังไม่ได้เข้าถึงได้ทุกกลุ่ม ยกตัวอย่างผู้สูงอายุในประเทศที่เขาอาจจะไม่ได้เข้าถึงอินเตอร์เน็ต หรือสมาร์ทโฟน จะมีทางไหนบ้างที่จะแก้ปัญหาตรงนี้ได้
หมออิ๊ก : ในมุมที่คนอาจจะใช้อุปกรณ์ลำบาก มันก็มีทางแก้อย่างเช่น อยากให้คนไข้สามารถ Telemedicine กับหมอได้ แต่ว่าใช้เครื่องมือไม่ถนัด หรือต้องให้คนอื่นมาใช้ได้ ก็มีอยู่ที่หนึ่งปรับกระบวนการให้คนไข้ที่อย่างน้อยดูทีวีได้ เขาพยายามทำให้ทีวีเป็น Smart TV กลายเป็นว่าคนไข้สามารถทำ Telemedicine ได้ผ่านทีวีของเขา
หมออ๊บ : ผมเองยังมองว่าเทคโนโลยีมันปรับเปลี่ยนตัวมันเองอยู่แล้ว ที่จะเข้าหาผู้ใช้งาน แต่ในกรณีนี้จริง ๆ มีเทคโนโลยีที่มันมีอยู่แล้ว และสามารถนำมาใช้ได้ อย่างที่ผมพูดไปคือ Voice to Text เพื่อทำให้การสื่อสารมันง่ายขึ้น เหมือนกับการใช้โทรศัพท์เท่านั้น
สามารถรับชมวิดิโอ Expert Talk ฉบับเต็มได้ที่นี่ YouTube