SEO คืออะไร? ทำไปทำไม? ทำไมต้อง SEO? แล้ว SEO ที่ดีทำยังไง?

SEO article banner

SEO (Search Engine Optimization) คืออะไร และทำไปทำไม

ในยุคปัจจุบันที่ internet กลายมาเป็นส่วนนึงของชีวิตประจำวันของคนเรา คนส่วนมากเลือกที่จะใช้ search engine เช่น Google เป็นจุดเริ่มต้นของการทำอะไรก็ตามบน internet ไม่ว่าจะเป็นการหาข้อมูล การซื้อของออนไลน์ โต้ตอบอีเมล ดูหนังฟังเพลง รวมถึงการเข้าถึงเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียต่าง ๆ

จากสถิติแล้วกว่า 90% ของการเข้าถึงเว็บไซต์ต่าง ๆ นั้นมาจาก search engine ซึ่งผลลัพธ์จากการค้นหาบน search engine ที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบันอย่าง Google ก็ถูกแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ ผลลัพธ์ที่แสดงขึ้นมาโดยการใช้เงิน (paid search result) และผลลัพธ์ที่ถูกแสดงขึ้นมาเนื่องจากความน่าเชื่อถือและความเกี่ยวข้องของเนื้อหาและ keyword ที่ใช้ค้นหา (organic search result)
เว็บไซต์ชื่อดังอย่าง search engine watch ได้รายงานว่ามีเพียงแค่ประมาณ 6%เท่านั้นที่เข้าถึงเว็บไซต์ผ่านผลลัพธ์ที่มาจากการใช้เงินโฆษณา ส่วนอีก 94% นั้นล้วนมาจากผลลัพธ์ของ organic search result

เป้าหมายของการทำ SEO คือการพัฒนาเนื้อหาบนเว็บไซต์เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือ ให้ประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้เยี่ยมชม และ สอดคล้องกับ keyword ที่ถูกค้นหา เพื่อให้เว็บไซต์ถูกจัดอยู่ในอันดับต้น ๆ ของorganic search result ใน search engine เช่น Google เป็นต้น

ผลดีที่ได้จาก SEO ที่ดี

benefits from good SEO
ประโยชน์ที่ได้จาก การทำ SEO

1. SEO ที่ดีนั้นดึงดูดผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ที่มีคุณภาพ

ทำไม SEO ถึงดึงดูดผู้เยี่ยมชมที่มีคุณภาพ? เหตุผลก็เพราะ SEO ที่ดีจะทำให้เว็บไซต์ของคุณไปแสดงบน search engine จากการค้นหา keyword ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นผู้ที่มาเยี่ยมชมเว็บของคุณจะมาจากความสนใจที่เกี่ยวข้องกับสินค้า บริการ หรือ คอนเทนต์ของคุณจริง ๆ แตกต่างจากการโฆษณาชนิดอื่นที่คุณเป็นฝ่ายเข้าหาผู้ใช้งาน เช่น คุณเปิดร้านขายรองเท้าผ้าใบผู้ชายออนไลน์ และคุณมี SEO ของเว็บไซต์ที่ดี ผู้ที่ค้นหาบน Google จากคำว่า “รองเท้าผ้าใบผู้ชาย” ก็จะเจอเว็บไซต์ของคุณ นี่เป็นการเริ่มต้นที่ดีในการปิดการขาย เพราะอย่างน้อยที่สุดคือสินค้าของคุณนั้นตรงกับความต้องการของลูกค้า

2. ฟรี! ใช่ครับ การทำ SEO นั้นฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าการทำ SEO คือการปรับแต่งคอนเทนต์ของเว็บไซต์ของคุณเองให้มีความน่าเชื่อถือ ใช้งานง่าย และเกี่ยวโยงกับ keyword ที่ต้องการให้มากที่สุด ดังนั้นการทำ SEO ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น เว้นเสียแต่ว่าคุณจะอยากจ่ายเงินเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการทำ SEO อีกนิดหน่อย เช่นการจ่ายเงินเพื่อซื้อซอฟต์แวร์ในการวิเคราะห์

3. SEO ช่วยประหยัดเวลาในระยะยาว

SEO อาจจะเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาและความสม่ำเสมอในการทำ แต่ผลลัพธ์ของ SEO นั้นก็ค่อนข้างที่จะมั่นคง หรืออย่างน้อยคือ อันดับของเว็บไซต์ของคุณจะไม่ตกอย่างรวดเร็วแน่นอน ทำให้มั่นใจได้ว่าคุณจะมีผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์เข้ามาอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการปรับแต่ง SEO ถือเป็นอีกหนึ่งการวางแผนและลงทุนในการทำการตลาดระยะยาวที่มั่นคงนั่นเอง

4. SEO ทำแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักและจดจำ หรือพูดง่าย ๆ ว่า SEO สร้าง Brand Awareness

Keyword บางคำอย่างเช่น “ตรวจหวย” หรือ “ผลบอล”นั้นมีการค้นหาต่อเดือนใน Google มากถึง 10 ล้านครั้ง จะดีแค่ไหนต่อแบรนด์ของคุณ หากเว็บไซต์ของคุณขึ้นมาเป็นอันดับแรกจากการค้นหาทั้ง 10 ล้านครั้งนี้ แบรนด์ของคุณจะเป็นที่รู้จักในเวลาอันสั้นอย่างแน่นอน สำหรับแบรนด์ใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีคนรู้จักมากนัก การทำ SEO ถือว่าเป็นอีกหนึ่งอาวุธสำคัญที่จะทำให้แบรนด์ของคุณเป็นที่รู้จักในวงการที่คุณต้องการ

ผลเสียของการทำ SEO

SEO นั้นถึงจะมีข้อดีมากมายอย่างที่ได้กล่าวไป แต่ SEO ก็มีข้อเสียที่คุณอาจจะอยากรู้ไว้ก่อนที่จะเริ่มทำ

  1. SEO ที่ดีใช้เวลา และทรัพยากรในการสร้าง แต่อาจจะไม่ได้เห็นผลลัพธ์ในทันที
    • ผลลัพธ์จากการทำ SEO นั้นอาจจะไม่ได้รวดเร็วทันใจเหมือนการใช้เงินทำมาร์เกตติ้ง ดังนั้นผู้ทำ SEO อาจจะต้องค่อย ๆ ปรับแต่งและติดตามผลเพื่อแก้ไขอยู่ตลอด
  2. SEO ที่ดีนั้นมาจากรากฐานทั้งเว็บไซต์ที่มีความน่าเชื่อถือและเกี่ยวโยงกัน
    • ไม่ว่าคอนเทนท์ของคุณจะดีสักแค่ไหน แต่ตัวคอนเทนท์ ๆ เดียวนั้นไม่สามารถดึงประสิทธิภาพสูงสุดของการทำ SEO ออกมาได้ เนื่องจาก Google คำนึงถึงความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ของคุณ และยิ่งไปกว่านั้น ความเกี่ยวโยงกันของหน้าแต่ละหน้าก็มีผลต่อ SEO เช่นกัน
  3. Keyword ยิ่งยากยิ่งต้องลงทุนลงแรงเยอะ
    • อีกหนึ่งเรื่องที่ผู้ทำ SEO ควรคำนึงนั้นคือ ไม่ใช่แค่คุณคนเดียวที่ทำ SEO ความยากง่ายของแต่ละคีย์เวิร์ดอาจจะไม่เท่ากัน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วคีย์เวิร์ดที่ถูกค้นหาเป็นจำนวนมากจะเป็นคีย์เวิร์ดที่ค่อนข้างทำได้ยากเมื่อเทียบกับคีย์เวิร์ดที่ไม่มีคนค้นหา ดังนั้นคุณอาจจะต้องเผื่อใจไว้ก่อนว่าคุณต้องลงทุนลงแรงเยอะในคีย์เวิร์ดที่มีการแข่งขันกันสูง
  4. เสี่ยงที่จะโดนแบนจาก Google หากคุณฝ่าฝืนกฎ
    • SEO specialist หรือ นักทำ SEO หลาย ๆ คนเลือกที่จะใช้ทางลัดเพื่อให้ติดอันดับต้นใน Google อย่างรวดเร็ว หากแต่ไม่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการใช้คีย์เวิร์ดซ้ำ ๆ โดยที่ไม่จำเป็น การทำคอนเทนท์ให้ยาวโดยการ copy paste การอัด links ที่ไม่มีคุณภาพหรือเยอะเกินไป หรือการตะบี้ตะบันใส่รูปเข้าไปเยอะ ๆ แต่ทำให้เว็บโหลดช้า

อ่านเพิ่มเติม สำหรับสิ่งที่ไม่ควรทำในการทำ SEO

On-page SEO และ Off-page SEO

การทำ SEO นั้นถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนหลักๆคือ On-page SEO และ Off-page SEO

On-page SEO คือการทำ SEO บนเว็บไซต์ของเราเองโดยการปรับแต่งตัวแปรต่าง ๆ ที่เราสามารถควบคุมเองได้ เช่น keyword (คำที่ใช้ค้นหา) content (เนื้อหา) page title (หัวเรื่อง) meta description (tag คำอธิบายที่จะโชว์บน search engine) Heading (หัวข้อ) site speed (ความเร็วของเว็บไซต์) และสุดท้าย 404 errors (หน้าเว็บที่ไม่สามารถโหลดได้)

สิ่งที่มีผลต่อ SEO ไม่ได้อยู่แค่เฉพาะบนเว็บไซต์ของเราเองเท่านั้น แต่ตัวแปรที่มีผลต่อการจัดอันดับของ Search Engine อาจจะมาจาก BackLink จากเว็บไซต์อื่น ๆ ได้เช่นกันอย่างไรก็ตามเฉพาะ backlink แบบ do follow เท่านั้นที่จะช่วยให้ SEO ของคุณดีขึ้น

ควรเริ่มจากอะไรก่อนดีล่ะ แล้วอะไรที่มีผลต่อ SEO มากที่สุด

คำตอบคือ การปรับแต่งทุกตัวแปรให้ได้มากและดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดูจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เนื่องจากตัวแปรเพียงตัวแปรเดียวไม่สามารถทำให้เว็บไซต์ของคุณถูกจัดอันดับอยู่ในลำดับต้น ๆ ได้หาก keyword ดังกล่าวมีการแข่งขันจากเว็บไซต์อื่นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์จากเว็บไซต์ชื่อดังอย่าง Semrush ว่าสามสิ่งที่มีผลต่อ SEO มากที่สุดคือ จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ ระยะเวลาที่ใช้ในหน้านั้น ๆ ของเว็บไซต์ และจำนวนเฉลี่ยของหน้าเว็บไซต์ที่หนึ่งผู้ใช้งานได้เข้าเยี่ยมชม ในหนึ่งครั้งการใช้งาน

short tail vs long tail keyword

short tale vs long tale keywords
short tale vs long tale keywords

จากที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า Keyword นั้นคือคำที่แทรกอยู่ในทุก ๆ ส่วนของเนื้อหาในเว็บไซต์ ไม่ว่าจะเป็น title, heading tag, meta description หรือ แม้กระทั่งในตัวเนื้อหาหลักเองก็ประกอบไปด้วย keyword ต่าง ๆ มากมาย Keyword สามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภทย่อย คือ short tail keyword และ long tail keyword

keyword ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มคำจำนวนน้อยกว่า 2 คำ เราจะถือว่าคำเหล่านี้เป็น short tail keyword เช่นคำว่า “กระเป๋าผู้ชาย” แต่ถ้าหาก keyword ประกอบด้วยกลุ่มคำ 3 ถึง 5 คำ เราจะถือว่าเป็น keyword แบบยาว หรือ long tail keyword เช่นคำว่า “กระเป๋า หนัง สีดำ ผู้ชาย”

ความสำคัญและทริคของการทำ Title H1 H2 H3 และ Meta Description เพื่อพัฒนา SEO

Title

Title เปรียบเสมือนหัวเรื่องของหน้าเว็บไซต์นั้น ๆ ที่จะไปโชว์เป็นผลลัพธ์จากการค้นหาบน Google Title ไม่ได้แค่ช่วยให้ผู้คนที่ค้นหารู้ว่าเว็บของเรานั้นเกี่ยวกับอะไร แต่ Title ยังมีส่วนสำคัญในการบอกให้ Google รู้ เพื่อที่จะสามารถคำนวณความเกี่ยวโยงของเนื้อหากับ keyword และจัดอันดับให้กับเว็บของเรา เพื่อ SEO ที่ดีขึ้น
ความยาวของ Title นั้นถูกกำหนดอยู่ที่ไม่เกิน 70 ตัวอักษร อย่างไรก็ตาม ความยาวระหว่าง 55 ถึง 65 ตัวอักษรนั้นถือว่าเป็นจำนวนที่พอเหมาะ เนื่องจากหากจำนวนตัวอักษรเกินนี้ หัวเรื่องTitle บางส่วนของคุณจะถูกตัดออกดังในรูปภาพตัวอย่าง

mistake optimizing title
ตัวอย่าง title และ meta ที่ยาวเกินไป

Heading tag (Tag H1 H2 H3)

Tag H1 H2 H3 คือภาษา HTML ที่ทำหน้าที่กำหนดความใหญ่เล็กของตัวหนังสือในเว็บของเรา ความใหญ่เล็กของตัวหนังสือจะเป็นตัวบ่งบอกคนอ่าน และ search engine ว่าส่วนไหนคือหัวข้อ ส่วนไหนที่เราเน้นย้ำ ส่วนไหนเป็นหัวข้อย้อย หรือส่วนไหนคือเนื้อหา
หลักของการทำ Tag H1 H2 H3 นั้นเหมือนกับการเขียนหนังสือ หรือเขียนรายงาน เราจะใช้ H1 เพื่อบอก Google crawler ว่านี่เป็นหัวข้อใหญ่ที่สุด และ H2 H3 เป็นหัวข้อย่อยลดหลั่นลงมาตามลำดับ เช่นหากเราทำเว็บไซต์รีวิวห้างสรรพสินค้าในไทย H1 ของเราอาจจะเป็น “ห้างสรรพสินค้าในไทย ห้างไหนดี ห้างไหนเหมาะกับคุณ” ส่วน H2 นั้นอาจจะเป็นชื่อจังหวัด หรือชื่อพื้นที่ และ H3 เป็นชื่อห้างแต่ละห้างในพื้นที่นั้น ๆ หรือ H2 ของคุณอาจจะแบ่งตามแบรนด์ของห้าง เช่น เดอะมอลล์ เซ็นทรัล และ Big C และ H3 เป็นสาขาย่อยของห้างใน H2

Heading tag เหล่านี้ไม่มีความยาวเหมาะสมที่ตายตัว หากแต่ว่า Heading ของเราควรมี keyword รวมอยู่ด้วย

Meta Description

Meta Description คือส่วนของคำอธิบายคร่าว ๆ ถึงเว็บไซต์ของคุณที่จะไปปรากฏอยู่ข้างใต้ Title บนผลลัพธ์จากการค้นหาบน search engine จุดประสงค์ของ Meta description นั้นเพื่อที่จะบอกผู้อ่านว่าผู้อ่านจะสามารถคาดหวังอะไรจากคอนเทนท์ของเราได้

ความยาวที่แนะนำของ meta description ควรที่จะอยู่ประมาณ 100 ถึง 156 ตัวอักษร

ปัจจัยสำคัญอื่น ๆ ที่มีผลต่อ SEO ของเว็บไซต์

1. Interlinking

Interlinking คือการผูกหน้าแต่ละหน้าของเว็บไซต์ของเราเข้าด้วยกันโดยใช้ลิงก์เพื่อเชื่อมคอนเทนท์เข้าด้วยกัน ประโยชน์ของการทำ interlinking คือ

  • ทำให้ระยะเวลาเฉลี่ยต่อ 1 sessionของผู้เยี่ยมชมเว็บของเรานั้นเพิ่มขึ้น
  • ทำให้จำนวนหน้าเฉลี่ยต่อหนึ่งผู้เยี่ยมชมสูงขึ้น
  • ช่วยให้ Google เข้าใจโครงสร้างและเนื้อหาของเว็บไซต์ของคุณมากยิ่งขึ้น

2. Page speed

Page speed หรือความเร็วในการดาวน์โหลดของหน้าเว็บไซต์ เป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่มีผลต่อ SEO ของคุณเนื่องจาก page speed นั้นมีผลต่อ user experience ซึ่งเป็นตัวแปรหลักในการทำ SEO เช่นกัน หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่าการปรับแต่ง page speed นั้นยาก หรือแม้กระทั่งไม่สามารถทำได้ เพราะ page speed ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับ Domain หลักของคุณ อย่างไรก็ตาม เนื้อหาในแต่ละหน้าก็มีผลกับ page speed หาก page speed ของคุณช้าเกินไป คุณอาจจะลองพิจารณา คอนเทนท์และรูปภาพที่อยู่ในหน้านั้น ๆ ก่อนในเบื้องต้น

3. Responsiveness

Responsiveness คือการทำให้หน้าเว็บไซต์รองรับและปรับเปลี่ยนตามอุปกรณ์ที่ผู้เยี่ยมชมใช้ เช่น เว็บไซต์บางเว็บไซต์หน้าตาไม่เหมือนกันหากเทียบบนคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์ จุดประสงค์ของการทำเว็บให้รองรับและปรับเปลี่ยนตามอุปกรณ์ก็เพื่อ พัฒนาประสบการณ์ของผู้เยี่ยมชม (user experience) ให้ดียิ่งขึ้น ในปี 2019 นี้ Google เริ่มจริงจังมากขึ้นกับการที่เว็บไซต์ของคุณควรจะซัพพอร์ทอุปกรณ์ต่าง ๆ เนื่องจากในปัจจุบัน ไม่ได้มีแต่คอมพิวเตอร์ที่เป็นช่องทางหลักที่ผู้ใช้งานใช้อีกต่อไป

นอกจากที่ได้กล่าวมานั้น การทำ SEO ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมายเช่น HTTPS, จำนวน bounce rate, และ direct traffic

เทคนิค Topic Clustering(on-page SEO)

SEO technique topic clusters

Topic Clustering คือการจัดกลุ่มหน้าเว็บของเราที่มีเนื้อหาอยู่ในหมวดหมู่เดียวกันมาเชื่อมกันด้วย interlink และลิงก์กลับไปหาคอนเทนต์หลักหรือที่เรียกว่า Pillar content ยกตัวอย่างเช่น คอนเทนต์หลักของเราคือ “งานในกรุงเทพ” หน้าเว็บที่จะถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่เดียวกันและลิงก์กลับมาหาหน้านี้คือหน้าของงานต่าง ๆ ที่อยู่ในกรุงเทพเช่น“งานบัญชีในกรุงเทพ” “งานการตลาดบนถนนสาทร” “งานเขียนโปรแกรมย่านอโศก” เป็นต้น

เทคนิค Partnerships/Affiliation (off-page SEO)

เทคนิคนี้สามารถนำมาใช้ต่อเมื่อคุณมีสิ่งที่คนอื่นต้องการ คุณสามารถใช้สิ่งเหล่านี้มาต่อรองเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ขึ้นกับทั้งสองฝ่าย เช่นการแลกเปลี่ยน backlinks เพื่อ พัฒนาความน่าเชื่อถือและSEO เป็นต้น

เทคนิค Sponsored Links

เทคนิคนี้คล้ายกับการทำ partnerships และ affiliation ต่างกันตรงที่คุณสามารถทำกับใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องนำมาใช้แค่เมื่อคุณมีสิ่งที่คนอื่นต้องการ คุณสามารถได้ traffic และมี backlinks จากเว็บไซต์ใหญ่ ๆ ได้เพียงแค่คุณอาจจะต้องยอมเสียเงินค่าโฆษณาสักหน่อย

เทคนิค Broken Link Building

วิธีนี้อาจจะเป็นวิธีที่ยุ่งยากสักหน่อย แต่ผลลัพธ์นั้นค่อนข้างที่จะคุ้มค่า เทคนิคการทำ broken link คือการใช้เครื่องมือออนไลน์ เพื่อหาลิงค์เสียบนเว็บไซต์ต่าง ๆ และเลือกลิงก์จากคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์หรือคอนเทนต์ของคุณ เพื่อแก้ให้ลิงก์เสียเหล่านั้นกลายเป็นลิงก์ที่สามารถใช้งานได้และลิงค์กลับมาที่คอนเทนต์ของคุณแทน ประสิทธิภาพในการพัฒนา SEO ของเทคนิคนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเว็บไซต์ที่มีลิงก์เสียอยู่ และ ความเกี่ยวโยงของคอนเทนต์นั้น ๆ กับคอนเทนต์ของคุณ

เครื่องมือในการทำ SEO

  1. เป้าหมาย: เช็ค rank ในอดีตและปัจจุบัน
    เครื่องมือ SEMRush, Moz, Nightwatch.io, RankTrackr, Majestic
  2. เป้าหมาย: เช็ค backlinks และ internal link
    เครื่องมือ: Ahrefs
  3. เป้าหมาย: เช็ค keyword
    เครื่องมือ: Google keyword planner, Google Trends, KWFinder, Nightwatch.io
  4. เป้าหมาย: เว็บ crawler
    เครื่องมือ: screaming frog SEO spider crawler, Beam Us Up
  5. เป้าหมาย: plugin สำหรับการเช็ค SEO
    เครื่องมือ: Meta SEO Inspector, SEO Quake
  6. เป้าหมาย: นับอักษรในส่วนต่างๆ และปรับแต่ง snippet
    เครื่องมือ: SEOMofo
  7. รวมความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับ SEO : http://bit.ly/344P4r4

 

 

เริ่มออกแบบอาชีพของคุณตั้งแต่วันนี้เลย

อย่ามัวแต่รอให้โอกาสเข้ามาหา คุณสามารถเข้าหาโอกาสดีๆ ได้ด้วยตัวเอง! เราพร้อมช่วยเหลือในก้าวแรกบนหนทางสู่การผจญภัยในอนาคตของคุณ มาออกตามหาโอกาสทางอาชีพใหม่ๆ บนความก้าวหน้าและนวัตกรรมที่ทันสมัย ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ GetLinks ตั้งแต่วันนี้เลย!

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
1 Comment
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments
Anonymous
Anonymous
กันยายน 6, 2019 2:53 PM

Good one

1
0
Would love your thoughts, please comment.x
()
x