7 ข้อนี้ ช่วยเข้าใจพวกเราเด็กรุ่นใหม่หน่อยนะ จดหมายถึงซีเนียร์ และ หัวหน้างาน

การทำงานของคนรุ่นใหม่

      by Theerada Moonsiri

#ฉันเกิดในยุคมิลเลนเนียล

“เด็กยุคใหม่มันไม่เอาการเอางานหรอก” ปึ้ง! ควันออกหูดั่งหม้อต้มน้ำร้อนเดือดปุด ๆ เมื่อได้ยินประโยคนี้ 

พจนานุกรมภาษอังกฤษ 3 สำนักใหญ่ ได้แก่ Oxford, Cambridge และ Macmillan ได้ให้ความหมายคำว่า Millennial (มิลเลนเนียล) ไว้คล้ายคลึงกัน ซึ่งก็คือ บุคคลที่ลืมตาดูโลกในช่วงกลาง ค.ศ. 1980s ถึงช่วงต้น ค.ศ. 2000s โดยประมาณ และกำลังก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ตอนต้นในช่วงแรกของศตวรรษที่ 21 ปัจจุบันเราเรียกคนกลุ่มนี้ว่าคนรุ่นใหม่นั่นเอง แต่ด้วยมุมมองผู้ใหญ่ที่ไม่ค่อยดีต่อชาวมิลเลเนียลทำให้คำนิยามตรงกับของ Urban Dictionary มากกว่านั่นคือ เป็นคำศัพท์ที่มนุษย์บางคนใช้เพื่อเรียกบุคคลอายุ 10-35 ปีเพื่อหาเรื่องสาดเสียเทเสีย”

ในฐานะคนรุ่นใหม่แห่งกรุงเทพมหานคร เราเชื่อว่าคนไทยมีความสามารถเก่งกาจไม่แพ้ใคร ไม่ว่าจะเป็นเหล่า First Jobber กับงานประจำงานแรกของชีวิต เหล่าสตาร์ทอัพกับโปรเจกต์สุดล้ำ หรือเหล่าคนไฟแรงที่พร้อมเปลี่ยนแปลงสังคม พวกเราชาวมิลเลนเนียลทุกคนเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนตั้งแต่องค์กรหน่วยเล็ก ๆ ไปจนถึงประเทศที่เป็นหน่วยใหญ่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเลย เพราะอีก 20 30 40 ปี คนที่จะเป็นซีเนียร์ต่อไปก็คือพวกเรานี่แหละ

วันนี้พวกเราคนรุ่นใหม่ขอมีข้อเรียกร้องนิด ๆ หน่อย ๆ ที่อยากแชร์ให้พี่ซีเนียร์มาจูนมาปรับตัวกันให้เข้าใจ ถ้ามันสำเร็จและเกิดขึ้นได้จริง ๆ การแตะนิ้วเข้ามาทำงานในออฟฟิศของเราทุกคนจะสนุกขึ้นเยอะเลย!

1. อายุน้อย แต่ไอเดียไม่น้อย ฟังเราหน่อยนะ

เราเข้าใจว่าสังคมไทยให้ความสำคัญกับลำดับอายุและตำแหน่งอาวุโสมากกกก โดยเฉพาะในองค์กรขนาดใหญ่และหน่วยงานราชการที่ถึงกับมีคำกล่าวว่า ผู้น้อยต้องนอบน้อมต่อผู้ใหญ่ แต่อย่าลืมว่าตอนนี้ทุกคนกำลังใช้ชีวิตและทำงานอยู่กับปัจจุบันในปี พ.ศ. 2562 ปีแห่งมิลเลนเนียล เพราะฉะนั้นความคิดเห็นของผู้น้อยไม่ควรถูกโยนทิ้งถังขยะแล้วฝังกลบในหลุมดำ แต่เป็นความเห็นที่ควรรับฟังและให้ความสำคัญ ถึงเราจะอายุน้อยแต่สมองเราไม่ได้น้อยตามนี่นา สุดท้ายแล้วไอเดียเราจะได้รับการนำไปใช้รึไม่ นั่นไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่อย่างน้อยไอเดียเราก็ไม่ควรที่จะถูกโยนทิ้งขยะโดยที่ไม่แม้แต่จะถูกพิจารณาแม้แต่นิดเดียว

2. เปิดรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไปกับพวกเรา (เถอะนะขอร้อง)

เวลาเปลี่ยน เทคโนโลยีก็เปลี่ยน เทคโนโลยีทำให้การทำงานสะดวกขึ้นมาก เพียงแค่ต้องใช้เวลาสักนิดในการเรียนรู้วิธีใช้สิ่งใหม่ ๆ เราลองจัดเวิร์กชอปการใช้งาน Google Doc ในที่ทำงานกันดีไหม จะได้ไม่ต้องเซฟไฟล์เวิร์ดส่งกันไปส่งกันมา หรือลองหันมาใช้ Skype for business หรือ Slack ในการสื่อสารกันระหว่างทำงาน แทนการสื่อสารผ่าน LINE ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัวดีกว่าไหม คงไม่มีใครไม่ชอบใจหรอกถ้าไลน์กรุ๊ปทำงานเด้งนอกเวลางาน อะไรใหม่ ๆ ที่มิลเลนเนียลสรรหามาให้เพื่อการทำงานที่คล่องตัวกว่าเดิมก็เป็นไอเดียที่ไม่เลวเลยนะ

3. อยากได้อะไรให้ “สื่อสารกับเรา”

มิลเลนเนียลอาจจะมีลูกบ้าทำทุกอย่างที่ขวางหน้าได้ดั่งทีมอเวนเจอร์ส แต่ซีเนียร์อย่าลืมว่าเราไม่ใช่สาววานด้าผมแดงที่อ่านใจคุณออก เราเป็นมนุษย์สปีชีส์ปกติเหมือนพวกพี่ ๆ นั่นแหละ ถ้าต้องการอะไร ให้เวิร์กแบบไหน อยากได้ผลลัพธ์อย่างไร ขอให้สื่อสารกับเรา บอกพวกเราตรง ๆ พวกเราจะดีใจมาก ๆ ถ้าซีเนียร์มาให้คำแนะนำ สอนงาน หรือแม้กระทั่งตักเตือนในความผิดพลาดด้วยเหตุผล มิลเลนเนียลไม่ได้เหิมเกริม ตั้งตัวเองเป็นใหญ่ หรือไม่ฟังใครนอกจากตัวเองหรอกนะ บางครั้งแล้ว พวกเราคนรุ่นใหม่อาจจะรู้จักเครื่องมือใหม่ ๆ เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะทำให้บริษัทบรรลุ objective บางอย่างได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ยกตัวอย่างเช่น Social media marketing, influencer marketing หรือ SEO เครื่องมือใหม่ ๆ เหล่านี้ คนรุ่นใหม่อย่างเราจะเข้าใจได้เป็นอย่างดีเพราะเราเติบโตมากับมัน

4. อะไร ๆ ก็เป็นไปได้ถ้าลุยไปด้วยกัน!

“อันนี้ยากไป” “พี่ว่าโปรเจกต์นี้ไม่น่าได้” “จะไหวเรอะ” ถ้าซีเนียร์ยังยึดติดอยู่กับวิธีการทำงานแบบเดิม ๆ ประเภทเจออะไรผิดแปลกเข้าหน่อยก็ถอยทันที สิ่งใหม่จะไม่มีวันเกิดขึ้นได้แน่นอน การกระทำเหล่านี้มีแต่จะทำให้หลาย ๆ คนหมดไฟในการทำงานมากกว่าที่จะเป็นแรงกระตุ้น แต่เมื่อคุณตกลงปลงใจรับเหล่ามิลเลนเนียลที่ชอบความท้าทายเข้ามาร่วมทีมด้วยแล้ว เชื่อเถอะว่าอะไร ๆ ก็เป็นไปได้ถ้าลุยไปด้วยกัน ปรับทัศนคติมาเซย์เยสให้กับทุกโอกาส ปลูกฝัง Can-Do Attitude ให้เป็นอัตลักษณ์ขององค์กร นอกจากจะได้ผลลัพธ์และความสำเร็จแบบใหม่ ๆ ยังเป็นคาถามัดใจชั้นดีให้เหล่ามิลเลนเนียลอยากทำงานด้วยนาน ๆ เพราะเราไม่เกิดความเบื่อหน่ายกับทางตันนั่นเอง

5. เราเคารพการกระทํามากกว่ากว่าคําพูด

ถ้าได้ชื่อว่าเป็นผู้นำ ร้อยทั้งร้อยต้องการความเคารพยำเกรงจากลูกทีมทั้งนั้น มิลเลนเนียลไม่ได้หัวแข็งหรือไม่เชื่อฟังคำพูดของผู้บังคับบัญชา แต่เราให้ค่าการกระทำมากกว่าคำพูด ถ้าวัน ๆ ซีเนียร์เอาแต่พร่ำพูดว่าต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ แต่ไม่เคยลงมือทำอะไรให้เราเห็นเป็นตัวอย่างเลย ไม่ว่าผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาวัยไหน ๆ ก็ไม่สนิทใจที่ให้ความเคารพ Show me what you got! สิ แสดงให้เราเห็นว่าคุณเจ๋งจริงที่จะเป็นผู้นำของเราได้

6. เราจริงจังเรื่องสมดุลชีวิตและการทำงาน

เราไม่สนว่าใครจะอุทิศตนให้กองเอกสารจนถึงเที่ยงคืน หรือนั่งปิดบัญชีในวันหยุดสุดสัปดาห์ ถ้ามันเป็นวิธีการบริหารเวลางานของคนคนนั้น แต่สำหรับพวกเราคนรุ่นใหม่ Work-Life Balance เป็นเรื่องสำคัญลำดับต้น ๆ พวกเราจัดเต็มในเวลางาน รับผิดชอบในภาระหน้าที่อย่างเต็มที่ แต่เมื่อแตะนิ้วเลิกงานเมื่อไหร่ นั่นคือเวลาส่วนตัวที่ไม่มีงานเกี่ยวข้อง เราเลือกที่จะปิด Notification ทุกอย่าง เพราะชีวิตของมิลเลนเนียลไม่ใช่เรื่องงานเพียงอย่างเดียว

7. เราพักสมอง พักร่างกาย ให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ

ผลสำรวจชี้ว่าคนไทยใช้วันหยุดพักร้อนไม่คุ้ม มิลเลนเนียลอย่างเราไม่น่าจะใช่คนในกลุ่มนั้น ต่อเนื่องมาจาก Work-Life Balance เลยคือพวกเราไม่กลัวที่จะยื่นใบลาไปพักผ่อน นอกจากการพักผ่อนจะช่วยคลายเครียดแล้ว ยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจใหม่ ๆ อีกเป็นกระบุง ส่วนเหตุผลที่เราลาหยุดก็ไม่เห็นจะยากเลย มันเป็นสิทธิ์พื้นฐานของแรงงาน จะปล่อยไปเฉย ๆ ได้ยังไงล่ะ จริงไหม ?

การอาบน้ำร้อนมาก่อนของซีเนียร์อาจหมายถึงการมีประสบการณ์ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากกว่า แต่บางทีมันก็น้ำร้อนที่ต้มเมื่อหลายสิบปีที่แล้วจนตอนนี้อาจจะไม่อุ่นพอที่จะเป็นเชื้อเพลงผลักดันองค์กรให้ก้าวหน้า แต่พวกเราชาวมิลเลนเนียลขนหม้อน้ำเดือดชุดใหม่มาฝากด้วยไฟแรงกล้า พวกพี่ๆ เปิดใจรับพวกเราเข้าไปนั่งทำงานด้วยหน่อยนะ พวกเราไม่ได้ดื้ออย่างที่คิดหรอก 🙂

 

 

 

เริ่มออกแบบอาชีพของคุณตั้งแต่วันนี้เลย

อย่ามัวแต่รอให้โอกาสเข้ามาหา คุณสามารถเข้าหาโอกาสดีๆ ได้ด้วยตัวเอง! เราพร้อมช่วยเหลือในก้าวแรกบนหนทางสู่การผจญภัยในอนาคตของคุณ มาออกตามหาโอกาสทางอาชีพใหม่ๆ บนความก้าวหน้าและนวัตกรรมที่ทันสมัย ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ GetLinks ตั้งแต่วันนี้เลย!

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments
0
Would love your thoughts, please comment.x
()
x